Praxis/Practice
ว่าด้วย “ปฏิบัติการ”
โดยรากฐานของวิธีคิดเรื่อง “ปฏิบัติการ” เกิดขึ้นมายาวนานจากการตั้งคำถามเชิงปรัชญาว่าหากมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการรับรู้โลก ดังนั้น “ความแท้จริง” หรือ “สารัตถะ” ของสรรพสิ่งที่มนุษย์รับรู้นั้นคืออะไร และจะศึกษาหรืออธิบายอย่างไร ย่อมนำนักคิดนักปรัชญาในยุคคลาสสิกไปหาวิธีเข้าถึงความรู้ในเรื่องนี้ 2 แนวทาง คือ แนวทางของ “เพลโต” ในเชิงเหตุผล ความคิด หรือการถกเถียง (Dialectica/dialektikḗ) จากสองแง่มุมที่ต่างกันเพื่อเข้าใกล้ความ “จริงแท้” ที่สมบูรณ์ อีกหนึ่งคือแนวทางของ “อริสโตเติล”ในทางว่าการรับรู้เรื่องราวของโลกและสรรพสิ่งของมนุษย์ มาจากการสั่งสมความรู้หรือทฤษฎี มาจากการ “ปฏิบัติ” ของมนุษย์ เพราะมนุษย์ปฏิบัติจึงเกิดองค์ความรู้และความรู้นำไปสู่การปฏิบัติที่เหมาะสม หรือที่เรียกกันว่า “ศาสตร์แห่งการปฏิบัติ” หรือในอีกชื่อหนึ่ง “จริยศาสตร์” (Ethics) ทั้ง 2 ทางนี้ล้วนเป็นรากฐานแห่งปรัชญาตะวันตกทั้งมวล
จากอริสโตเติล ถึง คาร์ล มาร์กซ์
ปฏิบัติการ ที่ผู้ศึกษาจะเน้นย้ำเป็นปรัชญาในการศึกษานี้ คือ “ศาสตร์แห่งการปฏิบัติ” ที่วางไว้กับการเปลี่ยนแปลงของจิตสำนึกเฉพาะตน จิตสำนึกร่วม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งมวลของมนุษย์ กลุ่มปรัชญาสายนี้มองว่า จิตสำนึก/องค์ความรู้/ทฤษฎี/อุดมการณ์ล้วนเกิดแต่การปฏิบัติ นัยหนึ่งอาจเรียกว่า “การดำเนินชีวิต” เพราะมีการปฏิบัติจึงมีการคิดและตกผลึกความรู้แล้วถ่ายทอดมันสู่ผู้คนในสังคม
คำว่า “ปฏิบัติ” ในภาษาอังกฤษ “Practice” มาจากภาษากรีก คือคำว่า Praxis หมายถึงกิจกรรมที่อิสรชนกระทำ ซึ่งก็คือการกระทำทุกๆ อย่างรวมถึงการเมือง ส่วนในทางปรัชญานั้น Praxis เป็นแนวคิดที่มีการใช้ที่ชัดเจนโดยนักปรัชญาที่ใคร่ครวญปัญหาเรื่องการปฏิบัติหรือ “จริยศาสตร์” อย่าง Aristotle เป็นการพูดถึงหนึ่งในสามของกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ theoria, poiesis, และ praxeis ซึ่งเป็นการแบ่งแยกความรู้ออกเป็นสามแบบ คือ theoretical, poietical และ practical กิจกรรมทั้งสามแบบมี “จุดมุ่งหมาย” ต่างกัน 1) theoretical นั้น มีจุดมุ่งหมายที่ “ความจริง” 2) poietical มีจุดมุ่งหมายที่การผลิตบางสิ่งบางอย่าง และ 3) practical นั้นก็คือ ตัวการกระทำเอง (action itself) ความรู้ในแบบ practical นี้ ก็ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ จริยธรรม และการเมือง (Petrovic ใน Bottomore, 1991: 435)
อย่างไรก็ตาม นักปรัชญาในยุคหลังมองว่า poietical และ practical นั้นมีความคลุมเครือไม่ได้แยกขาดจากกันเพราะสัมพันธ์กับการกระทำที่เกิดขึ้นจริงในฐานะตัวการกระทำเอง ดังนั้น กิจกรรมทั้งสามอย่างของมนุษย์ที่อริสโตเติลแบ่งแยกไว้ สามารถแบ่งแยกได้สองส่วนคือ theoretical และ practical หรือกล่าวอย่างหยาบๆ ว่า คือ การแบ่งแยกระหว่าง “ความรู้หรือทฤษฎีที่เป็นจริง” และ “ปฏิบัติการที่เกิดจริงหรือการประยุกต์ใช้ทฤษฎี”ของมนุษย์ ตัวอย่างนักคิดในยุคหลังที่มองเช่นนี้ เช่น Bacon ที่มองว่าความรู้ที่แท้จริงนั้นต้องปฏิบัติได้ หรือกรณีของ Kant ที่มองว่าการปฏิบัตินั้นอาจมาจากการตระหนักรู้ (Practical Cognition) แต่ทั้งหมดทั้งมวลพยายามมุ่งอธิบายว่า “ทฤษฎี” และ “การปฏิบัติ” มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว หรือ กล่าวง่ายๆ ว่า มนุษย์จะต้องรู้ว่าตนปฏิบัติการต่อเรื่องหนึ่งได้ (practical) และต้องรู้ทฤษฎีว่าจะปฏิบัติอย่างไร (theoretical) ปฏิบัติการหนึ่งๆ จึงสำเร็จผลโดยเฉพาะในแง่ของการปฏิบัติทางศีลธรรม (Petrovic ใน Bottomore, 1991: 435–437)
ความพยายามแสวงหาเอกภาพระหว่างปฏิบัติการที่เป็นจริงและในเชิงความคิด/สำนึกร่วม นำไปสู่การคิดในเชิงจิตนิยม ที่พยายามจะรวมเอาทั้ง practical และ theoretical ของ อริสโตเติล ที่มองว่าการกระทำคือความจริง เข้าไว้ในหนึ่งเอกภาพ ทางออกของปัญหานี้คือการนำวิภาษณ์วิธี (Dialectic) ซึ่งเป็นวิธีคิดของเพลโตใช้ทบทวนสรรพสิ่งเพื่อค้นหาความจริง มาใช้มองการกระทำการหนึ่งของมนุษย์สู่การครุ่นคิดและตระหนักรู้ถึงแก่นแท้ของตัวตนและวิญญาณ นำโดย Georg Wilhelm Friedrich Hegel (1770–1831) เรียกว่าจิตนิยมวิภาษณ์วิธี หรือ วิภาษณ์วิธีของเฮเกล (Hegel’s dialectics) (The Stanford Encyclopedia of Philosophy, 2016: ออนไลน์)
การนำวิภาษณ์วิธี และ ศาสตร์แห่งการปฏิบัติ หรืออีกนัยคือระหว่างการ “การครุ่นคิด” และ “การปฏิบัติ” ของมนุษย์มาหลอมรวมเป็นหนึ่ง “กระบวนการ” ที่สร้างความจริงสมบูรณ์ (Absolutely Truth) หรือนัยหนึ่งคือการสร้างความหมายของการกระทำหนึ่งๆ และสร้างความตระหนักรู้ถึงจิตสำนึกในตัวตนของผู้กระทำ (self-consciousness) โดยการที่จิตวิญญาณพยายามจะทำความเข้าใจถึงแก่นแท้หรือสำนึกของตัวเองนั้นมาจากการ “รับรู้” โดย “คนอื่น” และทำให้จิตวิญญาณของอีกฝ่ายรับรู้และตระหนักในตน หรืออีกนัยหนึ่งการคิดทบทวนการรับรู้แบบเฮเกลนี้ เชื่อว่าคือการคิดเพื่อนำตัวเองให้หลุดพ้นจากเงื่อนไขทางสังคม หรือคิดเพื่อที่จะมี “อิสระเสรี” อย่างแท้จริง (Petrovic ใน Bottomore, 1991: 436–438)
ปฏิบัติการ หรือ “Praxis” ในมุมมองของพวกจิตนิยมเฮเกล จะเน้นเรื่องการครุ่นคิดกับการกระทำที่เกิดขึ้น เน้น “จังหวะ” ของการปฏิเสธของผู้หนึ่งในความสัมพันธ์ที่มีกับผู้หนึ่ง เพราะทั้งสองฝ่ายนั้นเกี่ยวข้องกันและเกี่ยวข้องกับการเป็นตัวตนของกันและกัน และสำหรับเฮเกลการเข้าใจและบรรลุถึงเสรีภาพนั้นกระทำได้เมื่อ “เริ่มคิด” ไม่ใช่เริ่ม “ต่อสู้” และการปฏิบัติการเพื่อ “ต่อสู้” กับผู้อื่น หรือ อำนาจอื่น หรือสถาบันทางสังคมอื่น ที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมสั่งสมมาจะเป็นการพูดถึง Praxis ในแง่มุมของ Marx ที่วิพากษ์แนวคิดจิตนิยมวิภาษณ์วิธีของเฮเกล แล้วต่อยอดเป็นทฤษฎีของตัวเอง
การเริ่มต้นนำแนวคิดเรื่อง Praxis มาใช้งานโดย Marx อาจเริ่มด้วยการที่เขาวิพากษ์ Feuerbach (ดูเพิ่มใน theses on Feuerbach, 1888) เพื่อเริ่มต้นงานชิ้นแรกๆ ของเขา คือ หนังสือเรื่อง German Ideology (1888) Marx ได้วิพากษ์การแยกความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ไปดำเนินการอยู่ในความคิดจิตใจหรือจิตสำนึก ซึ่งง่ายดายต่อการถูกบิดเบือนความจริงและแฝงฝังมากับความจริงด้วย การบิดเบือนนี้คือการกระทำของ “อุดมการณ์” ที่สร้างการควบคุมบงการความจริงที่มนุษย์รับรู้ ความจริงที่มนุษย์รับรู้ คือ ผลพวงหรือผลผลิตของมนุษย์ในวิสัยที่ต่างจากสรรพสัตว์ มนุษย์ไม่ได้ผลิตเพื่อพอดำรงชีพแต่ผลิตเพื่อสร้างสิ่งอื่นๆ ทั้งการรับรู้และความสัมพันธ์ด้วย ดังนั้นเมื่อผู้คนบางกลุ่มใช้กระบวนการคิดหรือการตระหนักรู้ในตนแบบแยกขาดจากสรรพสิ่งเช่นเดียวกับพวกจิตนิยมที่ใช้ “หัวเดินต่างเท้า” เช่นนั้นความจริงของมนุษย์ที่เป็นการผลิตย่อมถูกเข้าใจผิดพลาด อุดมการณ์/ความคิด/ความรู้เกี่ยวกับความจริงก็ถูกบิดเบือน Marx จึงเสนอว่าความจริงหรือการตระหนักรู้ในตนที่ถูกต้อง คือ “การปฏิบัติ” หรือ “การผลิต” ที่สร้างความสัมพันธ์ของมนุษย์และการผลิต ความสัมพันธ์ในการดำเนินชีวิต การปฏิบัติเหล่านี้สร้างการรับรู้ของมนุษย์ และการรับรู้ก็เป็นสำนึกที่คลี่คลายกลายเป็นอุดมการณ์ครอบงำมนุษย์